เทคนิคการสอนออนไลน์ในยุค New Normal

Categories: It-IT Knowledge Sharing Forum

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้
เรื่อง เทคนิคการสอนออนไลน์ในยุค New Normal

 

    สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นสถาบันการศึกษาหนึ่ง ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของของเชื้อไวรัส COVID-19 จนถึงขั้นทั้งประเทศต้องมีการประกาศ Lock down เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ในช่วงเดือน มีนาคม - พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมานั้น

    ทำให้ทางคณาจารย์และผู้บริหาร ได้ทำดำเนินการประยุกต์และนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ในประกอบการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมหลักในการจัดการเรียนการสอนให้เกิดขึ้นทั้งเพื่อการสอน แลกเปลี่ยน สื่อสาร ติดตาม และประเมินการเรียนรู้กับนักศึกษาในวิชาของตนเอง ทั้งนี้มีทั้งเครื่องมือที่เกิดจากการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเอง เช่นโปรแกรมเพื่อการประชุมแบบ video conference ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือในการสอนระยะไกลวิชาบรรยาย และ การสอนภาคปฏิบัติ และการประยุกต์ใช้เครื่องมือ Social Media ที่เป็นที่คุ้นเคยของทั้งอาจารย์และนักศึกษาในการเป็นแพลตฟอร์มเพื่อการติอต่อประสานงานกัน นอกจากนี้ยังมีเครื่องอื่นๆ ที่คณาจารย์เสนอเพื่อให้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิสัมพันธ์ในการเรียนการสอนระยะไกลได้ โดยในช่วงเวลาดังกล่าว โดยปัจจุบัน สถานการณ์การแผ่ระบาดของโรค อยู่ในภาวะควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว และเข้าสู่แนวการดำเนินชีวิตแบบใหม่ของประชาชน ในแบบ New Normal ที่มีการปฏิบัติตัวที่ต่างไปจากการดำรงชีวิตแบบเดิม มีการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมากขึ้นเช่น การรักษาระยะห่าง การล้างมือ การใช้บริการสาธารณะต่างๆ 

    เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาเรื่องการเรียนการสอนในทุกระดับการศึกษา ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ทางสำนักวิชาฯ จึงได้ดำเนินการสรุป องค์ความรู้ที่สำคัญด้านเทคโนโลยี ที่สอดคล้องตามรูปแบบการเรียนการสอนที่ต่างกัน เพื่อเผยแพร่เป็นแนวทางปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ให้กับผู้ที่สนในได้นำไปปรับใช้ในการสอนของตนเอง ดังสรุปต่อไปนี้ 

  • การเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Online Learning)

    เป็นกระบวนการเรียนการสอนที่ ผู้สอนได้จัดเตรียม เนื้อหา แบบฝึกหัด และ กระบวนการวัดผล เป็นแบบออนไลน์ผ่านทาง web-based หรือ mobiile-based applications ซึ่งผู้เรียนสามารถที่จะเรียนจากสถานที่ใด ในเวลาใดก็ได้ ที่มีความสะดวกและเหมาะสมต่อการเรียนรู้ การเรียนการสอนระยะไกล นั้นยังหมายถึงการเรียนการสอนที่ผู้สอนและผู้เรียนกระจายกันอยู่แต่ละที่ และไม่สามรถสื่อสารกันได้โดยสะดวก จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือประกอบการสื่อสารเพื่อให้การสื่อสารนั้นสมบูรณ์เพียงพอที่จะก่อให้เกิดการเรียนรู้ได้ ซึ่งการสื่อสารระยะไกลนั้นสามารถทำได้ด้วยการใช้เทคโนโลยี 
    การเรียนการสอนโดยผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศนั้น จำเป็นต้องมีความพร้อมหลายด้าน ได้แก่ ด้านเครื่องมือ ด้านโครงข่าย ด้านโปรแกรมหรือแพลทฟอร์ม ด้านเนื้อหา และด้านความพร้อมของผู้สอนและผู้เรียน ดังนั้นเราควรสำรวจความพร้อมเหล่านี้กับนักศึกษาของเราก่อน และร่วมกันหาทางออกหากเกิดความไม่พร้อม อาจารย์เองจำเป็นต้องคอยสำรวจความไม่สะดวกของนักศึกษาและพร้อมจะให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารแบบกระทันหัน ไม่ได้เตรียมการหรือฝึกซ้อมไว้ก่อน อาจารย์จึงต้องจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพ 
    เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีสามารถจัดทำได้ 2 ลักษณะ คือ 1) ลักษณะแบบ Synchronous คือ รูปแบบเข้าถึงพร้อมกัน หรือจะเรียกการสื่อสารนี้แบบ Real Time ตัวอย่างเช่น โปรแกรมแชต หรือ Conference ที่คู่สนทนาต้องเปิดระบบในเวลาเดียวกัน และอีกรูปแบบหนึ่งคือ 2) Asynchronous หรือ รูปแบบเข้าถึงไม่พร้อมกัน ตัวอย่างเช่นการสนธนาในเว็ปบอร์ด ที่จะใช้เวลาในการสื่อสารนานกว่า เพื่อคู่สนทนาอาจจะเปิดเข้าระบบในเวลาแตกต่างกัน ทั้งนี้การสื่อสารแบบเข้าถึงพร้อมกันนั้นเป็นวิธีที่เข้าใจและทำได้ง่ายกว่า และแทบไม่ต้องปรับเปลี่ยนกฏเกณฑ์ต่างๆมากนักเมื่อเทียบการการเรียนการสอนในห้อง เนื่องจากมีรูปแบบคล้ายๆกัน คือ ทุกคนจะรู้ถึงการมีส่วนร่วมของคนอื่นๆ ในห้องเรียน สามารถคุยกันระหว่างผู้เรียนเอง เพียงแต่ไม่ได้อยู่ให้ห้องเรียนจริงๆ เท่านั้น แต่การสื่อสารรูปแบบนี้จำเป็นต้องอาศัยความพร้อมหลายๆ ด้าน จึงจะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะความพร้อมแต่ละด้านที่กล่าวมาข้างต้นของผู้สอนและผู้เรียนแต่ละคน อาจมีไม่เท่ากัน บางคนอาจอยู่ในที่ห่างไกล เข้าถึงอินเตอร์เน็ตและระบบได้ยาก แตกต่างจากการสื่อสารแบบเข้าถึงไม่พร้อมกัน ที่ไม่ต้องอาศัยความพร้อมที่มากนักก็สามารถจัดให้มีการเรียนการสอนได้ หากแต่รูปแบบการเรียนการสอนและการประเมิน รวมถึงกฏเกณฑ์ของการจัดการห้องเรียน ต้องมีการปรับเปลี่ยนมากขึ้น เช่นการเรียนการสอนผ่าน กลุ่มใน Facebook ผ่าน วิดีโอ Youtube

  • การเรียนการสอนแบบผสมผสาน (Blended Learning) 

    เป็นวิธีการสอนที่มีการดำเนินการสอนร่วมกันระหว่าง การเรียนรู้แบบออนไลน์ และ การเรียนรู้ในห้องเรียน โดยวิธีการนี้เป็นผสมผสาน เพื่อให้เกิดความใกล้ชิดระหว่างผู้สอนและผู้เรียนได้มากขึ้น แต่ยังคงการเว้นระยะห่างตาม social distancing ไว้อยู่ ในภาคการเรียนที่ 1/2563 นี้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้กำหนดให้การเรียนการสอนเป็นไปในรูปแบบ Blended Learning หรือ แบบผสมผสาน ซึ่งเป็นการผนวกกันระว่าง การสอนแบบใช้เทคโนโลยีและการสอนแบบในห้องเรียนปกติ ซึ่งวิธีการดังกล่าวสามารถลดเวลาในการพบปะกันแบบต่อหน้าเพื่อเป็นการลดโอกาสการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสแล้ว รูปแบบ Blended Learning ยังมีประสิทธิภาพอย่างมากเมื่อเทียบกับการเรียนการสอนในรูปแบบดั่งเดิม หรือเรียกว่า “การศึกษาแบบส่งผ่านความรู้” เนื่องจากความรู้จะถูกจัดเก็บและนำเสนอในระบบ e-learning เพื่อให้ผู้เรียนทำความเข้าใจเนื้อหาก่อนเข้าเรียนในห้องเรียน ดังนั้น เมื่อเข้าเรียน ผู้เรียนจะใช้เวลาดังกล่าวในการร่วมกันสรรสร้างชิ้นงาน ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้ความรู้มากกว่าการทดสอบความจำ ซึ่งถือว่าเป็นการเข้าถึงการเรียนการสอนขั้นสูงกว่าเมื่อพิจารณาจากอนุกรมวิธานของบลูม (Bloom’s taxonomy) โดยกล่าวได้ว่าการเรียนรู้ของมนุษย์ผ่านกิจกรรมต่างๆ สามารถมีได้ในหลายระดับ ซึ่งความจำและความเข้าใจถือเป็นการเรียนรู้ระดับต่ำที่สุด ส่วนการประยุกต์และการสรรสร้างจากองค์ความรู้ ถึงจะเป็นการเรียนรู้ระดับสูงที่สุด 
    ดังนั้น รูปแบบการเรียนการสอนแบบ Blended Learning จึงให้ผู้เรียนทำความเข้าใจเนื้อหา ซึ่งเป็นการเรียนรู้ขั้นต่ำนั้นด้วยตัวเอง ผ่านระบบ e-learning ที่ผู้สอนสามารถเฝ้ามองและเห็นถึงพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ และนำความรู้ที่ได้มาระดมสมองเพื่อแก้ปัญหาหนึ่งๆ หรือสร้าง solution ของปัญหาที่แท้จริงได้ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ขั้นสูงสุดของมนุษย์

    สำนักวิชาขอสรุป Tools หรือ เครื่องมือ ที่จำเป็นในการใช้สำหรับการเรียนการสอน และ การทำวิจัยในชั้นเรียน ไว้ดังต่อไปนี้

  1. Application ที่เหมำะสมต่อหลักสูตรของสำนักวิชา ในการนำมาใช้สอนออนไลน์และการวิจัยในชั้นเรียนนั้น มีดังนี้ Zoom, Google Meet, Microsoft Teams และ WebEx
  2. เทคนิคการเรียนการสอนออนไลน์และการวิจัยในชั้นเรียนที่เหมาะสมกับหลักสูตรของสำนักวิชา คือ Modulebased learning, Inquiry-based learning, Flipped learning และ Problem / Project-based learning
  3. วิธีการวัดและประเมินผลการสอนออนไลน์และการวิจัยในชั้นเรียนที่เหมาะสมกับหลักสูตรของสำนักวิชา คือ Quiz, Peer/Self-evaluation, Interview, Portfolio, Presentation และ Project

    นอกไปจากนั้น ทางสำนักวิชา ขอแนะนำตัวอย่าง online courses ที่น่าสนใจ และ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ได้แก่ coursera เพื่อให้ท่านที่สนใจ สามารถเข้าทดลองเรียนได้ฟรี เพื่อให้เกิดความเข้าใจในมุมมองของผู้เรียนได้มากขึ้น และนำเนื้อหา และ วิธีการสอนมาประยุกต์ใช้กับวิชาของตนเองได้เป็นอย่างดี

 |   |  9503